วันเสาร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2552

Phonics 1 ( 06 March 2009)

จากประสบการณ์ที่ผมเคยได้มีโอกาสสอนให้เด็กไทยหัดอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ ทำให้ผมรู้ว่า จริงๆแล้วปัญหาหนึ่งของการศึกษาของระบบการศึกษาของไทยก็คือ เด็กไทยอ่านหนังสือไม่ออก ขอย้ำว่า อ่านหนังสือไม่ออกจริงๆ ผมเคยสอนนักเรียนระดับมัธยมต้นของโรงเรียนแห่งหนึ่ง แปลกใจว่าทำไมเด็กตัวโตขนาดนี้ อ่านไม่ออกแม้แต่คำง่ายๆ ตอนแรกผมนึกว่าเด็กแกล้ง เลยลองเอาแบบเรียน( ภาษาไทยให้ลองอ่านดู แต่เป็นวรรณคดีไทย ) ปรากฏว่าเด็กจะอ่านจากความทรงจำ หมายความว่า ถ้าเด็กเคยเห็นคำนั้นมาก่อนและจำได้ว่า เคยอ่านคำนั้นได้ ก็จะจำได้ ออกเสียงได้ แต่ถ้าคำนั้น ไม่เคยเห็นมาก่อน ให้เวลาผสมคำเท่าไหร่ก็อ่านไม่ออก ยกตัวอย่างเช่น เคยเห็นคำว่า น้ำ ก็สามารถอ่านออกได้ แต่พอเราแกล้งเขียนเป็นคำว่า ม้ำ เด็กคนเดิม บอกว่า อ่านไม่ออก
ลองนึกดู ก็เหมือนกับการสอนผู้ใหญ่เหมือนกัน ต้องขอบอกว่า ปัญหาที่ว่า ไม่ได้เกิดกับเด็กไทยเท่านั้น ผู้ใหญ่ไทย หลายคน ( ที่ไม่ใช่ GHB staffs นะ 5555 ) ก็อ่านไม่ยักจะออก แฮะ ทั้งๆที่การอ่านหนังสืออก โคตรจะจำเป็นและมีประโยชน์อย่างมากๆๆๆๆๆ เพราะ เอกสาร การติดต่อ กับผู้คน แม้แต่ อินเตอร์เน็ต ซึ่งปฎิเสธไม่ได้ว่า เป็นแหล่งความรู้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก็ยังพึ่งพาการอ่านเป็นส่วนใหญ่
การอ่านหนังสือออก นอกจากจะมีประโยชน์ในการของการพัฒนาความรู้ความสามารถ การติดต่อสื่อสารแล้ว ยังสามารถทำให้โชคลาภเข้ามาตัวเราได้ด้วยนะ อย่างเช่น เราอาจจะไปอ่านเจอคอลัมน์อะไรเด็ดๆ แล้วเรารู้คำตอบ ( ที่ได้จากการอ่านนั่นแหละ ) พอเราส่งไปชิงรางวัลก็ได้รางวัลมาอะไรเทือกเนี้ย ตัวอย่างนี้รู้สึกจะเว่อร์ไปหน่อย 5555 เอาล่ะ ในเมื่อเรารู้แล้วว่าการอ่านหนังสือออก ทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนไปในทางที่ดีได้ถึงเพียงนี้ เราก็มาออกเสียงภาษาอังกฤษกันเถอะนะ
ทีนี้ จะอ่านแบบธรรมดา เราก็คงเข้าใจภาษาของเราคนเดียว ไหนๆจะอ่านหนังสือทั้งที เราคงอยากจะอ่าน หรือ ออกเสียง ให้คนที่รู้ภาษาอังกฤษ เข้าใจว่า เราจะพูดว่าอะไรถูกมั๊ย อย่างเช่นคำว่า Vanilla ร้อยทั้งร้อย คนไทยจะอ่านว่า วะ-นิ-ลา รับรองว่า พอไปถึงเมืองนอก แล้วอยากกินไอศกรีม รสนี้พูดจนคอโป่งก็ไม่ได้กิน เพราะคำนี้ คนทั่วโลกเค้าออกเสียงกันว่า ว่ะ-นิ้ล-หล่า ( ที่เขียนนี่ ก็ไม่เหมือนที่ออกเสียงจริงนะ แต่หาตัวหนังสือภาษาไทยที่ออกเสียงใกล้เคียงกว่านี้ไม่เจอ เพราะฉะนั้น ถ้าอยากรู้ ต้องเข้าเรียนนะครับ ทุกวันศุกร์ เวลา 11.45-13.15 น, ชั้น 14 โฆษณาซะเลย 5555)
ตัวอย่างนึง ที่ผมชอบยกตัวอย่างให้นักเรียนฟังก็คือ กรณีคนไทยใหญ่ที่เข้ามาทำงานที่ กทม แล้วพูดไม่ชะ ( ไม่ชัด ) เวลาพูดอะไร ไม่มีตัวสะกด อย่าง จะบอกว่า วันนั้น ฉันไปกินข้าว อร่อยมาก เรามักจะได้ยินคนเค้าล้อกันว่า วาน้า (วันนั้น ) ช้าปากีข้า ( ฉันไปกินข้าว ) อาหร่อม่าม่า ( อร่อยมากๆ ) ถามจริงๆว่า ในฐานะคนไทย พอได้ยินแบบนี้ รับรองว่าเราจะพยายามฟังให้ได้ว่า คนพูดพยายามจะสื่อสารอะไร ในที่สุดเราก็พอจะเข้าใจได้( มั๊ง ) ว่า วันนั้น คนพูดไปกินข้าว อร่อยมาก ทำนองเดียวกัน เวลาฝรั่งฟังคนไทย( ที่พูดไม่ชัด ) พูดภาษาอังกฤษ ถ้าไม่น่าเกลียดจนเกินไป คนฟัง( ฝรั่ง ) ก็จะพอเดาได้เหมือนที่เราเดาคนไทยใหญ่พูดน่านแหละ คือพอรู้เรื่อง แต่ในใจเค้าจะคิดยังไง หารู้ไม่ ( แต่คงไม่ใช่ชื่นชมแน่ๆ ) รู้อย่างนี้แล้ว เรายังจะ พู่พาสาอากิม่าชะ ( พูดภาษาอังกฤษไม่ชัด ) อีกหรือ
สรุปก็คือว่า การออกเสียงภาษาอังกฤษให้ชัด มีความสำคัญกับการพูดและการฟังอย่างยิ่ง ถ้าเราออกเสียงไม่ถูกต้อง ผู้ฟังก็จะฟังเราไม่เข้าใจและเราก็จะฟังผู้พูดที่เป็นเจ้าของภาษาไม่เข้าใจด้วยเหมียนกัน หลายๆครั้งที่เรามักจะออกเสียงภาษาอังกฤษที่เป็นสำเนียงไทยจนเคยชิน เมื่อต้องพูดกับชาวต่างชาติเราก็จะออกเสียงนั้นๆ ซึ่งทำให้ชาวต่างชาติฟังแล้วงงๆ ไป ( แม้จะพยายามเดาแบบสุดฤทธิ์ ) หรือหลายๆ ครั้งเราไม่ได้ออกเสียงท้ายของคำเพราะไม่เห็นความจำเป็น ( อันนี้คนไทยเป็นเยอะมากกกกก เพราะภาษาเราไม่มีเสียงท้าย เราก็เลยไม่รู้ว่ามันจะออกไปทำไม แต่ภาษาอังกฤามันมี นี่แหละ ปัญหาแหละ ) หรือไม่อย่างนั้นพอออกเสียงถูกต้อง ก็ถูกคนรอบข้างมองว่าดัดจริตไปนั้นเลย เราต้องมาปรับความเข้าใจกันใหม่นะครับ ถ้าต้องการพูดภาษาอังกฤษให้เพราะ ให้ดี ให้เหมือนเจ้าของภาษาก็ต้องพยายามออกเสียงให้เหมือนหรือคล้ายเจ้าของภาษาที่สุด จะสำเนียงไหนก็แล้วแต่ขอให้ความถูกต้องมาก่อนเป็นอันดับแรก ถ้าจะสอนเด็กๆ แล้วยิ่งสำคัญเพราะเขาจะจำในสิ่งที่เราสอนครั้งแรกไม่มีวันลืมเลือนเลย ถ้าสอนถูกแต่แรก รับรองว่าสิ่งนั้นจะติดตัวเขาไปตลอดชาติ ปู๊นเลย
เรามาเริ่มกันจาก A B C กันเลยนะครับ
Alphabet ตัวอักษรภาษาอังกฤษเราทราบกันแล้วว่ามีทั้งหมด 26 ตัว
แบ่งเป็น พยัญชนะ 21 ตัว ภาษาอังกฤษเรียกว่า Consonants และสระอีก 5 ตัว ภาษาอังกฤษเรียกว่า Vowels
ตัว A ตัว B ตัว C เมื่อเรายังเด็กๆ คุณครูสอนให้เราเรียกชื่อว่า เอ บี ซี นั้น คุณครูสอนถูกแล้วนะครับ แต่เสียงจริงๆของมันนั้น เป็นอย่างนี้นะครับ
Vowels สระมีทั้งเสียงสั้น และเสียงยาว
สระเสียงสั้น Short A sound เช่นคำว่า apple เราออกเสียงว่า แอะพ - เพิล เสียงของ ตัว A เสียงสั้นจึงเป็นเสียง แอะ
ยกตัวอย่างเช่น : hat cat rat fat mat bat ( แฮะท แคะท แระท แฟะท แมะท แบะท ต้องขอบอกก่อนนะครับว่า ที่ผมเขียนแบบนี้ ไม่ใช่ว่า ผมไม่รู้ว่าภาษาไทยเขียนยังไง แต่อยากเขียนให้เห็นเสียงที่ซ่อนอยู่ในคำนั้นๆว่า มีเสียง แอะ ซ่อนอยู่ครับ อย่าได้จำไปใช้ในชีวิตประจำวันเด็ดขาดนะครับ 55555 )
Short E sound เช่น egg เราอ่านคำนี้ว่า เอ็ก เสียงของ e เสียงสั้นจึงเป็นเสียง เอะ
ยกตัวอย่างเช่น : bed red bell ten hen pen web ( เบะด เระด เบะล เทะน เฮะน เพะน เวะป เป็นต้น )
Short I sound เช่น ink เราอ่านคำนี้ว่า อิงค เสียงของ i เสียงสั้นจึงเป็นเสียง อิ
ยกตัวอย่างเช่น : pig wig dish fish gift ( พิก วิก ดิช ฟิช กิฟท )
Short O sound เช่น fox เราอ่านคำนี้ว่า ฟอกซ เสียงของ o เสียงสั้นจั้งเป็นเสียง เอาะ หรือ ออะ
ยกตัวอย่างเช่น : box ox mop sock lock clock top doll ( บอะกซ์ ออะกซ์ มอะพ ซอะค ลอะค คลอะค ทอะพ ดอะล )
Short U sound เช่น duck เราอ่านคำนี้ว่า ดัค เสียงของ u เสียงสั้นคือเสียง อะ
ยกตัวอย่างเช่น: bug bus sub cub truck ( บะก บะส ซะบ คะพ ทระค )
วันนี้ขอพอแค่นี้ก่อนนะครับ เมื่อยมือสุดทนแล้วครับ แล้วมาต่อกันคราวหน้านะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น