วันเสาร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2552

13 มีนาคม 2552 ( Phonics 2)






เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เราได้หัดลอง ผสมคำแบบง่ายๆไปแล้ว ทั้งในชั้นเรียน และที่สรุปให้ฟังไปใน blog ใครทำได้แล้วก็ขอให้ฝึกฝนต่อไป คนที่ยังทำไม่ได้ก็อย่าเพิ่งท้อถอย ผมขอเป็นกำลังใจให้ ผมเคยยกตัวอย่างว่า การฝึกภาษาจะเปรียบไปก็เหมือนกับการหยอดกระปุกเพื่อซื้อจักรยานสักคันหนึ่ง สมมติจักยานราคา 1000บาท ถ้าเราหยอดทุกวัน วันละบาท ก็ 3 ปีกว่าก็จะได้จักรยาน 1 คัน ( ถ้าราคามันไม่ปรับซะก่อนนะ 5555 ) แต่ถ้าเราหยอดไม่ไม่หยอดมั่ง มันก็คงจะยืดเวลาการครอบครองจักยานออกไปอีก เพราะฉะนั้น หมั่นสะสมนะครับ ผมเองก็ใช้วิธีนี้เหมือนกัน มันได้ผล เลยบอกต่อ

เอาล่ะ สมมติว่าตอนนี้ เราได้พื้นฐานของการผสมคำกันเบื้องต้นแล้ว แต่ในชีวิตจริงๆของเรา เราคงไม่ได้เจอแต่คำเหล่านี้ เพราะว่า จริงๆแล้ว มันยังมีคำที่มีเสียงควบกล้ำ อย่างคำว่า Spring อ่านว่า สะ ปริง เสียงควบจากการออกเสียง p + r พร้อมๆกัน เราก็ต้องออกให้ครบทุกเสียงด้วย และนี่คือจุดที่สำคัญยิ่งของการฝึกภาษาอังกฤษ พวกเราคงโดนเคี่ยวเข็ญกันในชั้นเรียนแล้วว่าเอ ทำไมครูเข้มงวดจังเลยเวลาพูดแล้วไม่มีเสียง S R T K ฯลฯ ก็เพราะว่า เสียงต่างๆเหล่านี้ หากเราออกเสียงขาดไปแม้แต่เสียงเดียว ความหมายจะเพี้ยนไปทันที ตัวอย่างเช่น คำว่า Fly กับคำว่า Fry คำหลัง อ่านว่า ฟราย เสียงตัวอาร์ ส่วนคำแรกอ่านว่า ฟลาย เสียงตัวแอล หูฝรั่งนั้นเขาฟังปุ๊บแยกทันทีว่าเราพูดถึงคำไหน ระหว่างคำว่า บิน กับคำว่า ทอด ภาระจึงตกอยู่กับผู้ส่งสาร คือ คนพูด ที่จะต้องพูดให้ชัด เพื่อให้ผู้รับสาร แปลให้ตรงกันกับข่าวสารที่ต้องการสื่อ ( พูดไปเหมือนวิชาการซะเหลือเกิน คนสอนเองก็เหนื่อยเหมือนกัน 5555 )

กลับมาเล่าต่อ อย่างที่บอกว่า มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเจอกับคำง่ายๆตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน วันนี้ ผมจึงขอเสนอวิธีการฝึกในขั้นต่อไป คือการอ่าน หรือ เราอาจเรียกให้เก๋ๆก็ได้ว่า Phonics Reading ซึ่งก็คือการฝึกหัดอ่านบทความที่เน้นเสียงหลัก แต่ละเสียง ผมได้แนบไฟล์มาให้ โหลดกันด้วย เพื่อให้คนที่สนใจเอาไปฝึกอ่านกัน แน่นอนแหละว่า ในแต่ละบทความนั้น จะต้องประกอบด้วยหลายเสียงหลายแบบหลายเทคนิก แต่อยากให้สังเกตว่า แต่ละ บทความสั้นๆนั้น เราจะเน้นเสียงใดเสียงหนึ่ง โดยดูได้จาก คำต่างๆที่ใช้นั้น ส่วนใหญ่เป็นเสียงใด ยกตัวอย่างเช่น เรื่อง A Map นั้น ก็จะน้นเสียง แอะ (A) เรื่อง Hot Rod ก้จะเน้น เสียง ออะ (O) เป็นต้น

ลองโหลดไปฝึกดู สงสัย ติดขัดตรงไหน ไว้เราไปถกกันต่อในห้องเรียน คนที่ไม่ฝึก เวลาอ่านจริงๆ เสียงมันจะฟ้องเลยว่า ไม่เข้าใจ ส่วนคนที่ลิ้นแข็งแล้ว ไม่ต้องกังวล เพราะว่า เราไม่ได้ต้องการ Accent ฝรั่ง แต่เราต้องการวิธีการออกเสียงที่ถูกต้อง ขออนุญาตยกตัวอย่าง เปรียบเทียบ อีกเรื่องสำหรับคนที่กังวล เรื่องAccent อยากบอกแบบนี้ว่า เราคงเคยเห็นคนเหนือ มีสำเนียงแบบหนึ่ง ต่อให้พูภาษากลาง เราก็พอเดาได้ว่ามาจากภาคไหนยิ่งคนใต้ยิ่งชัด เพราะจะมีสำเนียงเฉพาะ นั่นแหละ ต่อให้เราพูดฝรั่งได้คล่องแค่ไหน ถ้าเราไม่ได้เกิดที่นั่นหรือ ไปเรียนตั้งแต่เล็กๆ แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะมี Accent ฝรั่ง แต่ที่เราได้คือ international accent ซึ่งสามารถฟังและพูดได้กลมกลืนกับทุกชาติทั่วโลก และจากการที่ได้คุยกับคนต่างชาติ เค้าก็ชอบสำเนียงไทยเวลาพูดอังกฤษมากๆ มันป็นเอกลักษณ์ เหมือนเวลาที่เราคุยกับเพื่อนที่มาจากอีสาน หรือ ภาคอื่นนั่นแหละ ลึกๆแล้วเราก็รู้สึกดีกับสำเนียง หรือกลิ่นอายของเอกลักษณ์ในความเป็นภาคต่างๆเช่นกัน หรือไม่ใช่?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น