วันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2552

Adjective และ Adverb (ประจำวันที่ 16 มีนาคม 2552)

สอนเรื่องนี้ทีไร เป็นต้องได้รับคำขอร้องให้ช่วยสรุปทุกทีไป ทั้งๆที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ง่ายแสนง่าย และ สนุกแสนสนุก ถ้าจะเปรียบเทียบเล่นๆ Adj และ Adv (ชื่อเล่นของ Adjective และ Adverb ที่คนไทยชอบใช้กัน 5555 ) มีไว้เพื่อให้คนที่ต้องการสื่อสารข้อมูล ใช้บรรยาย สิ่งที่ต้องการพูดให้มันดูอลังการ มีสีสันเพิ่มขึ้น เช่น สมมติว่าจริงแล้ว เราอยากบอกว่า ฉันมีแมวตัวนึง (I have a cat.) รู้เรื่องมั๊ย รู้เรื่อง เพราะว่า ฉันต้องการบอกแค่ว่าฉันมีแมว 1 ตัว จบ แต่คนพูดก็อยากอวดว่าแมวฉันเนี่ย มันเดิร์นมากไง ก็เลยต้องบอกว่า ( I have a very very cute little black Siamese cat .) เนื้อหาหลักเหมือนเดิม คือ ฉันมีแมวตัวนึง แต่ใส่สีใส่ไข่ซะเห็นภาพเลยว่า ฉันมีแมวไทยสีดำตัวเล็กๆน่ารักๆมากๆตัวนึง จากเดิมเคยพูด 4 คำ I have a cat กลายมาเป็นพูดซะเป็นรถไฟเลย ล่อไป 10 คำ ทีนี้ รู้หรือยังว่า ทำไมเวลาเราฟังคนฝรั่งพูด หรือ คนไทยที่พูด ภาษาอังกฤษเก่งๆพูด เราก็จะมานั่งชื่นชม อุ๊ย ทำไม พูดเก่งจัง พูดประโยคยาวเป็นวา เลย จริงๆ ไม่มีอะไรหรอก ใส่เครื่องปรุงเยอะแยะ อย่างที่เล่านั่นเอง
แต่จะพูดตามตรง ฝรั่งเค้าก็ไม่ค่อยชอบให้ใส่เครื่องทรงเยอะๆแบบนี้เท่าไหร่หรอกนะ เพราะฟังแล้วน่ารำคาญ เท่าที่เคยเจอในกรณีที่คุยกันเป็นงานเป็นการ เค้าอยากฟังสั้นๆ แค่ I have a cat. ก็พอ แต่คนไทยบอกว่าไม่เดิร์น ฉันชอบแบบพูดยาวๆ ถ้างั้นคุณมาถูกทางแล้ว ถ้าอยากพูดประโยคยาวๆเก่งๆ มาทางนี้เลย adj + adv ช่วยคุณได้แน่ๆ ถ้าพูดกันเชิงวิชาการแล้วละก็ Adjective ก็คือ คำคุณศัพท์ ( ฟังดูดีขึ้นหน่อยมั๊ยเนี่ย ) ทำหน้าที่ขยายคำนาม ( ขอย้ำนะว่า ขยายได้แต่คำนามเท่านั้น ) มีรายละเอียด ดังต่อไปนิ้ ( ไม่ต้องจำนะว่ามีกี่ประเภท เพราะไม่ได้ออกข้อสอบ 555 เอาแค่รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม ขอให้รู้ว่า คำไหนเป็น adj ก็พอแล้ว คนที่เรียนในชั้น จะสังเกตได้ว่า เราไม่เคยสนใจเลยว่ามันเป็นประเภทไหน แต่ขอให้รู้ว่ามันเป็น adj แค่นี้ก็เอาไปใช้งานได้แล้ว )
1. Descriptive Adjective บอกลักษณะคุณภาพของคน สัตว์และสิ่งของเช่น young, old, rich, new, god, black, clever, happy, beautiful ( สังเกตนะ เวลาเราใช้ เราเอาไว้หน้านาม อย่างเช่น young boy , beautiful lady etc. หรือไม่ก็หลัง Verb to be เช่น We are rich , he is clever เป็นต้น )

2.Possessive Adjective แสดงความเป็นเจ้าของเช่น my, your, his, her, their, our, its ( สังเกตดูสิ เวลาเราใช้ เราเอาไว้หน้านาม อย่างเช่น My dog , your paper , his book , her bag etc. หรือไว้หลัง Verb to be เช่น this is our house เป็นค้น)
3.Quantitative Adjective เอาไว้บอกปริมาณมาก หรือ น้อยของนามที่นับไม่ได้ เช่น some, half, little, much ,enough เป็นต้น
4.Numeral Adjective เอาไว้แสดงจำนวนมากน้อย ของนามที่นับได้หรือแสดงลำดับก่อน- หลังของคำนามเช่น one , two, first, second , many เป็นต้น
5. Demonstrative Adjective เป็นคำคุณศัพท์ที่เอาไว้ชี้เฉพาะคำนาม เช่น this, that, these, those ไง
6. Interrogative Adjective interrogate แปลว่า สอบถาม เพราะฉะนั้น ก็เลยเป็นคำคุณศัพท์ที่ใช้แสดงคำถาม เช่น which, whose, what เป็นต้น ก็เลยมักจะวางอยู่หน้าประโยคคำถาม ตัวอย่างเช่น Whose dog is this ? ( หาตัวนี้เป็นของใคร ) Which way shall we go ? ( เราควรไปทางไหนดี ) เป็นต้น -
7. Proper Adjective ก็คือคำคุณศัพท์ที่มาจากคำนามที่เป็นชื่อเฉพาะ เช่น ชื่อประเทศ ทำหน้าที่ ขยายคำนามซึ่งมีความหมายว่า “เป็นของ หรือจากประเทศนั้นๆ ตัวอย่างเช่น Siamese cat ไม่ได้แปลว่า แมวเป็นชาวสยาม แต่แปลว่า เป็นแมวจากประเทศสยาม แหม ตัวอย่างมีแต่ หมาๆแมวๆ เนอะ 5555
8. Distributive Adjective แสดงการแบ่งแยกหรือจำแนก เช่น each, every, either, neither เป็นต้น
ก็มีแค่แปดอย่างนี้แหละ ผมก็จำไม่ได้หมดหรอกว่ามีชื่ออะไรมั่ง แต่อย่างที่บอกแหละว่าไม่สำคัญ แต่เมื่ออยากรู้ก็เลยเล่าให้ฟังเท่านั้นเอง มาพูดเรื่องตำแหน่งของคำคุณศัพท์ ( Positions of Adjective) กันดีกว่า
1. วางไว้หน้าคำนาม เช่น P’Aui wears a black suit. ( พี่อุ้ยใส่สูทสีดำ ) Khun Tor is a good guy. ( คุณต่อ เป็นคนดี ) เป็นต้น
2. วางไว้หลัง Verb to be และ Linking Verbs เช่น
Khun Warn is kind.( คุณ หวานเป็นคนใจดี ) หรือ I feel exhausted. ( ผมรู้สึกเพลียจังเลย )
อ้อ หมายเหตุ อธิบายเพิ่มนิดนึงนะ Linking Verb คือคำกริยาที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง subject กับ adjective ที่ตามมา ซึ่งมักเป็นคำที่บอกความรู้สึก ที่คนพูดรู้สึกต่อสิ่งนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น look , seem , sound ,taste , smell , turn , keep , feel , appear , grow , get , become , go เป็นต้น ตัวอย่างเช่น This Som-Tum tastes good. ( ส้มตำจานนี้ อร่อยจัง ) The soap smells sweet. ( สบู่กลิ่นห๊อมหอม ) Khun Mai looks tired. ( คุณ ไม้ดูเหนื่อยๆ )
แต่ก็มี Adjective บางตัว ที่มีข้อยกเว้นว่า จะต้องวางไว้หน้าคำนามเท่านั้น (ห้ามวางไว้หลัง Verb to be และ Linking Verbs เด็ดขาด) เช่น only (เพียง) upper (ข้างบน) former (แต่ก่อน) chief (สำคัญที่สุด) inner (ภายใน) outer (ภายนอก) main (สำคัญ) wooden (ทำด้วยไม้) golden (ทำด้วยทอง) principal (หลักสำคัญ) elder (สูงวัยกว่า) eldest (สูงวัยที่สุด) drunken (ขี้เมา)
เอาเท่านี้ก่อนนะ รู้สึกมึนๆหัวแล้ว เดี๋ยววันหลังมาต่อ อ้อ หรือไม่ก็ไปต่อในห้องเรียนดีกว่า 5555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น